วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2553

ข่าเงินล้านที่ตำบลบ้านนา

ตำบลบ้านนา อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง เกษตรกรส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรแบบผสมผสานปลูกพืชหลายชนิดอยู่ร่วมกันจนเรียกกันว่า ปลูกพืช 4 ชั้น คือ ชั้นที่หนึ่งอยู่บนสุดเป็นหมาก มะพร้าว สะตอ ชั้นที่สองเป็นไม้ผล เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง ต่ำลงมาชั้นที่สามเป็นกาแฟ ชะอม ส้มป่อย ผักเหลียง และชั้นที่สี่อยู่บนผิวดิน และใต้ดิน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ขมิ้น กระชาย เป็นต้น และจากการที่เกษตรกรปลูกพืชที่มีความหลากหลายเช่นนี้ ทำให้เกษตรกรมีงานทำตลอดปี ใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพสูงสุด และที่สำคัญทำให้เกษตรกรมีรายได้รายวัน รายเดือนและรายปี พืชที่ทำรายได้รายวันที่สำคัญคือ ข่าเหลือง ซึ่งรอบปีที่ผ่านมาสามารถนำ เงินตราเข้าหมู่บ้าน ได้กว่า 30 ล้านบาท ข่าเงินล้านที่ตำบลบ้านนา ที่จะนำเสนอต่อไปนี้ จึงเป็นอีกทางเลือกใหม่ของเกษตรกรในจังหวัดระนองที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ข่าเหลืองเงินล้าน จริงหรือ? สำนักงานเกษตรอำเภอกะเปอร์ ได้เก็บข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกข่าเหลือง ในพื้นที่มีเกษตรกรตำบลบ้านนา อำเภอกะเปอร์ ปลูกข่าเหลือง 243 ราย เนื้อที่ 492 ไร่ ใช้ระยะปลูก 50x50 เซนติเมตร ใน 1 ไร่ จะปลูกข่าได้จำนวน 6,400 หลุม (กอ) หลังปลูก 5 - 6 เดือน สามารถขุดขายได้ โดยเฉลี่ยน้ำหนักกอละ 1.5 กิโลกรัม จะได้ผลผลิต เฉลี่ย 9,600 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อขุดข่าแล้วต้องนำมาทำความสะอาด บรรจุถุงและจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน ราคาซื้อขายกิโลกรัมละ 10 - 12 บาท รายได้เมื่อหักค่าใช้จ่าย แล้วประมาณ 80,000 บาทต่อไร่ เกษตรกรตำบลบ้านนา ปลูกข่าเหลือง 492 ไร่ รายได้ไร่ละ 80,000 บาท คิดเป็นเงิน 39,360,000 บาท หรือเท่ากับ 39 ล้านบาทเศษต่อ 1 ฤดูกาลปลูก และในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ - เมษายน ข่าเหลืองของเกษตรกรกระทบแล้ง ผลผลิตที่ได้น้อยกว่าปกติ ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นถึง 15 - 16 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น คำว่า "ข่าเงินล้าน" สำหรับหมู่บ้านนี้ จึงเป็นไปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม ผู้นำการปลูกข่าเหลือง นางสัมภาษณ์ อยู่สุ่ม อยู่บ้านเลขที่ 19/30 หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านนา อำเภอกะเปอร์ โทร. 0-7789-0005 เล่าว่า ปลูกข่าเหลืองมาตั้งแต่ปี 2540 โดยใช้พันธุ์ที่ได้จาก เพื่อนบ้าน ซึ่งนำมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีีสาน) เพื่อปลูกไว้กินเองเหลือจากกินก็นำไปขาย ปรากฏว่า ตลาดมีความต้องการสูง จึงสนใจหันมาปลูกข่าเหลืองกัน เมื่อถามว่า ปลูกข่าเหลืองดีกว่าปลูกพืชชนิดอื่นอย่างไร นางสัมภาษณ์ อยู่สุ่ม บอกว่า ข่าเป็นพืชที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว ลงทุนต่ำ การดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก โรค-แมลงรบกวนน้อย ให้ผลตอบแทนสูง เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกกาแฟ พบว่า ปลูกข่าเหลือง 3 ไร่ ดีกว่าการปลูกกาแฟ 5 ไร่ และอนาคตข่าเหลืองมีแนวโน้มสดใสกว่ากาแฟอีกด้วย เพราะตลาดยังมีความต้องการสูง ที่ตำบล บ้านนาเกษตรกรปลูกทั้งตำบล แต่ผลผลิตข่าเหลืองก็ยังไม่พอต่อความต้องการของตลาด เหตุผลที่ปลูกข่าเหลือง นางสัมภาษณ์ อยู่สุ่ม บอกว่า ข่าเป็นพืชคนจน เกษตรกรส่วนใหญ่มักไ่ม่สนใจ แต่จะหันไปสนใจพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา กาแฟ ปาล์มน้ำมัน แต่ตนเองมองว่าพืชเหล่านั้นกินไม่ได้ ให้ผลตอบแทนช้า จึงได้สนใจปลูกข่าเหลืองเป็นเจ้าแรกเมื่อหลายปีก่อน ในระยะแรกไม่มีคู่แข่งการตลาดก็ไม่มีปัญหา ต่อมามีเพื่อนเกษตรกร ปลูกข่าเหลืองมากขึ้น จนถึงทุกวันนี้ปลูกกันทั้ง 8 หมู่บ้าน ในตำบลบ้านนา คู่แข่งมากขึ้น จึงต้องพัฒนาด้านคุณภาพมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่มีปัญหาเรื่องการตลาด เพราะผลผลิตมีมาก คนรับซื้อก็มาก การกระจายสินค้า (ข่า) ก็มากตามไปด้วย การปลูกข่าเหลือง นางสัมภาษณ์ อยู่สุ่ม บอกว่า การปลูกข่าเหลือง จะต้องวางแผนการผลิตให้สามารถออกสู่ตลาดได้ตลอดปี (เว้นช่วงเก็บเกี่ยวกาแฟ) ทำให้มีรายได้ทุกเดือน สำหรับ การปลูกข่าเหลือง ปลูกได้ตลอดปี โดยเฉพาะแหล่งที่มีน้ำเพียงพอ ดินที่ปลูกควรเป็นที่ระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมขัง ไม่อุ้มน้ำ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาโรครากเน่าได้ และควรปรับปรุงดิน ด้วยการใส่ปุ๋ยหมัก หรือใส่แกลบกาแฟเพิ่มความร่วนซุยให้แก่ดิน จะทำให้ได้ข่าเหง้าโต น้ำหนักดี ใช้ระยะปลูก 50x50 เซนติเมตร ขุดหลุมขนาด 30x30x20 เซนติเมตร 1 ไร่ จะปลูกได้ 6,400 หลุม รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 1 กระป๋องนม การคัดเลือกพันธุ์ที่มีอายุ 8 เดือนขึ้นไป มีตาสมบูรณ์ ไม่มีโรคแมลงทำลาย แบ่งเหง้าพันธุ์แต่ละเหง้าให้มีตา 3-5 ตา ใช้เหง้าพันธุ์ประมาณ 1,500 - 2,000 กก.ต่อไร่ หรือเท่ากับเหง้าพันธุ์ 1 กก. ต่อ 3 หลุม จากนั้นนำเหง้าพันธุ์มาชุบด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราก่อนปลูก การปลูกให้ฝังเหง้าพันธุ์ ลึก 5-7 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ แต่ถ้าใช้ต้นพันธุ์ที่เพาะกล้าไว้ในถุงพลาสติก ขนาด 8x10 นิ้ว ก็จะใช้ 1 ถุงต่อ 1 หลุมใน 1 ไร่ ใช้ต้นกล้า 6,400 ถุง การดูแลรักษา หลังจากปลูกข่าเหลือง สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องคอยกำจัดวัชพืช อย่าให้ขึ้นรกท่วมแปลงปลูก สำหรับนางสัมภาษณ์ อยู่สุ่ม จะใช้วิธีการถอน จะไม่ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช เพราะจะมีผลกระทบต่อข่าเหลืองและมีสารพิษตกค้าง และไม่ใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชใด ๆ จึงรับรองได้เรื่องความปลอดภัยจากสารพิษ การใส่ปุ๋ย นางสัมภาษณ์ อยู่สุ่ม บอกว่า่ก่อนปลูกรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หลังปลูก 3 เดือน และ 4 - 5 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 โดยการโรยบางๆ รอบโคนต้น และควรหาแกลบกาแฟหรือเศษหญ้าแห้งคลุมโคน จะทำให้ข่าเหลืองเจริญเติบโตดี เหง้าโตขนาดจัมโบ้ สิ่งสำคัญในการปลูกข่า คือขาดน้ำไม่ได้และดินแฉะเกินไปก็ไม่ได้ เพราะจะทำให้ เกิดโรครากเน่า ส่วนปัญหาโรคแมลงรบกวนมีน้อย เพราะข่ามีกลิ่นเฉพาะตัวที่ช่วยขับไล่แมลง การเก็บเกี่ยว เมื่อข่าเหลือง อายุได้ 5-6 เดือน ก็สามารถขุดขายได้ วิธีการขุด โดยใช้จอบหรือเสียมขุดขึ้นมาทั้งกอ ตัดใบทิ้ง แล้วนำมาทำความสะอาด ใช้เครื่องพ่นสารเคมีแรงสูง แต่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีฉีดพ่นน้ำทำความสะอาด ลอกกาบ ล้างดินและต้องคอยระวังอย่าให้ช้ำ เพราะแรงดันของน้ำแรงมาก จากนั้นนำมาตัดแต่งราก ตัดแต่งลำต้นและบรรจุถุง รอการจำหน่าย นางสัมภาษณ์ อยู่สุ่ม บอกว่า ข่าเหลืองโดยเฉลี่ยจะใ้ห้ผลผลิตกอละ 1.5 กิโลกรัม ใน 1 ไร่ ปลูก 6,400 กอ จะได้น้ำหนักประมาณ 9,600 กิโลกรัม ๆ ละ 12 บาท จะมีรายได้เฉลี่ยเท่ากับ 115,200 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 80,000 บาท ซึ่งใช้เวลาเพียง 5 - 6 เดือนเท่านั้น ในช่วงที่เก็บเกี่ยวเกษตรกรคนเก่งบอกว่า จะปลูกใหม่ทดแทนไปทันที จะไม่ปล่อยให้พื้นที่ว่าง จึงทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ตลอดปี การตลาด นางสัมภาษณ์ อยู่สุ่ม บอกว่า การตลาดไม่มีปัญหา มีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน ในระยะแรกเมื่อ 7 - 8 ปีก่อน ปลูกข่าเหลืองกันน้อย พ่อค้าไม่ค่อยรู้จัก ต่อเมื่อมีการขยายปลูก กันทั้งตำบลบ้านนา จึงทำให้ดึงดูดพ่อค้าเข้ามาถึงพื้นที่ ปัจจุบันมีพ่อค้าเข้ามาซื้อข่าและพืชผักชนิดอื่นด้วย เช่น ขมิ้น กระชาย ชะอม ส้มป่อย ทุกวัน ๆ ละ 7 - 10 คันรถปิคอัพ สำหรับ ของตนเอง จะสามารถขุดข่าเหลืองขายได้วันเว้นวัน ราคาที่ขายได้ กิโลกรัมละ 10 - 12 บาท แต่ในช่วงฤดูแล้งราคาจะแพงถึงกิโลกรัมละ 15 - 16 บาท นางสัมภาษณ์ อยูุ่สุ่ม บอกอีกว่า นอกจากข่าเหลืองแล้ว ตนเองได้ปลูกขมิ้นอยู่อีกจำนวนมาก ผลผลิตประมาณ 10 ตัน ขณะนี้รอการขุดขาย ซึ่งคาดว่าจะเป็นพืชที่ทำรายได้อีกพืชหนึ่งด้วย ในตำบลบ้านนา อำเภอกะเปอร์ เกษตรกรปลูกข่าเหลืองกันมาก ทำให้เกษตรกรมีงานทำและมีรายได้ตลอดปี แต่ในช่วงแล้งจะมีปัญหาเรื่องน้ำ ทำให้ข่าเหลืองออกสู่ตลาด น้อยลง มีเกษตรกรหลายคนที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ได้ใช้ระบบการให้น้ำแบบสปริงเกอร์ในแปลงข่า ทำให้ข่าเจริญเติบโตดี เก็บเกี่ยวได้เร็วกว่ากำหนด ผลผลิตที่ได้ก็สูงกว่าเดิมมาก ดังเช่น นายอาทิตย์ จันทราศรี อยู่บ้านเลขที่ 77 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านนา บอกว่าได้ใช้ระบบน้ำเข้าช่วยในฤดูแล้งทำให้ข่าเหลืองเจริญเติบโตดีมาก ขุดขายได้เร็วขึ้น สำหรับด้านการตลาดก็ไม่มี ปัญหา พ่อค้ามาแย่งกันซื้อ เพราะช่วงฤดูแล้ง ข่าเหลืองขาดตลาด นายพิทยา สมบุญ พ่อค้าพืชผักจากอำเภอกะเปอร์ โทร. 0-1270-5744 เล่าว่าเข้ามารับซื้อพืชผักจากตำบลบ้านนามา 9 ปีแล้ว นอกจากตนยังจะมีพ่อค้ารายอื่นอีกกว่า 10 ราย ที่ไ้ด้เข้ามารับซื้อทุกวัน ตลาดแหล่งใหญ่อยู่ที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ ชุมพร รวมทั้งจังหวัดระนองด้วย ช่วงนี้รับซื้อข่าเหลืองจากเกษตรกร กิโลกรัมละ 15 บาท และพืชผักชนิดอื่น ก็ซื้อ เช่น ตะไคร้ มัดละ 100 ต้น 15 บาท ขมิ้นกิโลกรัมละ 8 บาท กระชายกิโลกรัมละ 10 บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น